การบริหารจัดการตนเอง (Self Management)

From Knowledge sharing space
Jump to: navigation, search

การบริหารจัดการตนเอง (Self Management) คืออะไร

การรู้จักควบคุมอารมณ์ของตนเอง การยับยั้งอารมณ์ของตนเองเมื่อเผชิญกับสภาวะอารมณ์ที่ไม่พึงประสงค์ โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น การยอมรับความแตกต่างทางกายทางความคิด ความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น

รู้ความแตกต่างรู้วางอารมณ์แล้วเป็นอย่างไร

เด็กยอมรับความแตกต่างของตนเองและผู้อื่น รู้จักควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของตนจะเป็นผู้ที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ปรับตัวได้ดี มีความมั่นคงทางอารมณ์มีสติ และมีความสุขและรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา

แนวทางการปฏิบัติของพ่อแม่ ผู้ปกครอง

  • ควรใช้เหตุผลในการอธิบายเพื่อให้ลูกเข้าใจความแตกต่างของตนเองและผู้อื่น เช่น สีผิว ความสูง น้ำหนัก ความแตกต่างทางความคิด และพฤติกรรม
  • ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ไม่แสดงอารมณ์ และคำพูดที่รุนแรง ใช้ภาษาสุภาพ
  • สอนให้บุตรหลานรู้จักใช้เหตุผล แก้ปัญหาด้วยปัญญา
  • สอนให้บุตรหลานรู้จักควบคุมอารมณ์ของตนเอง
  • เล่านิทาน ละคร เพื่อจำแนกลักษณะอารมณ์และผลเสียของการไม่รู้จักควบคุมอารมณ์

แนวทางการเสริมสร้างทักษะ

ฝึกให้เด็กยอมรับความแตกต่างของตนเองกับผู้อื่น มีคำสำนวนไทยที่สอนเด็กให้ยอมรับความแตกต่างของตนเองกับผู้อื่น เช่น “สองคนยลตามช่องคนหนึ่งมองเห็นโคลนตม อีกคนตาแหลมมองเห็นดาวอยู่พราวพราย” “รู้เขารู้เรา” “เอาใจเขามาใส่ใจเรา”เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ การยอมรับความแตกต่างระหว่างตนเองกับผู้อื่นจะช่วยให้เด็กปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างปกติสุข

พ่อ แม่ ผู้ปกครอง คือ บุคคลที่สำคัญที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจ ชี้แนะ สร้างทัศนะคติให้ผู้เรียนยอมรับตัวเอง และยอมรับผู้อื่น ซึ่งเป็นพื้นฐานของความเป็นผู้มองโลกในแง่ดี รู้จักผ่อนปรน ไม่ขึงตึงในการปรับตัวท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ดังนี้

  • ฝึกสังเกตความแตกต่างระหว่างตนเองกับบุคคลในครอบครัว รับรู้และมองสิ่งดีๆของผู้อื่นเช่น ความแตกต่างทางอารมณ์, ความแตกต่างทางความคิด, ความแตกต่างทางความสามารถเฉพาะตัว, ความแตกต่างทางความชอบ นิสัยใจคอ
  • ฝากให้เด็กได้เข้าร่วมกิจกรรม สังคม ร่วมกับผู้ใหญ่และกลุ่มเพื่อนในวันหยุด หรือในโอกาสที่เหมาะสม เช่น กิจกรมออกกำลังกายทางกีฬา กิจกรรมทางศาสนา กิจกรรมทางประเพณีท้องถิ่น ขึ้นบ้านใหม่ ปลูกต้นไม้ และกิจกรรมชุมชนต่างๆ ตลอดจนกิจกรรมการแสดงความสามารถของตนเอง
  • พ่อแม่ ผู้ปกครองติดตามสังเกตและนำผลการร่วมกิจกรรมนั้นๆ มาสนทนาเล่าสู่กันฟัง พูดคุยสะท้อนความรู้สึก การมองเห็นความสามารถของตนเองที่แตกต่างจากผู้อื่น หรือความสามารถของผู้อื่นที่แตกต่างไปจากตนเอง ฝึกการยอมรับความแตกต่าง นั้นอย่างสม่ำเสมอจนถือเป็นปกติของวิถีชีวิตในครอบครัว
  • ฝึกให้เด็กรู้จักควบคุมอารมณ์ เป็นความสมามารถในการยับยั้งอารมณ์ที่ไม่พึงประสงค์ ไม่ให้แสดงออกมาทั้งทางกิริยา วาจา การกระทำและควบคุมอารมณ์ไม่ให้อ่อนไหวง่าย อดทนภายใต้ถานการณ์ที่กดดันได้โดยไม่เครียดโดย


การฝึกฝนและเสริมสร้างการบริหารจัดการตนเอง

  • พ่อแม่ ผู้ปกครอง เป็นแบบอย่างที่ดีไม่ใช้อารมณ์ในการพูดคุย สนทนา หรือการตัดสินคุณค่าของเด็ก
  • ให้เหตุผล แก้ไขปัญหาด้วยแนวทางทางปัญญา ด้วยข้อมูลที่ชัดเจน
  • บอกสิ่งที่ไม่พอใจให้คนในครอบครัวได้รับรู้บอกอารมณ์ตนเองอยู่เสมอ เช่น หนูรู้สึกหงุดหงิดจัง หนูรู้สึกว่าไม่พอใจ รู้สึกโกรธ รู้สึกเบื่อหน่าย รู้สึกอยากกรีดร้อง อยากขว้างปาสิ่งของ ในสถานการณ์ที่เผชิญ การบอกอารมณ์ของตนบ่อยๆ จะทำให้รู้สึกและจับอารมณ์ตนเองได้อย่างมีทักษะจะช่วยลดระดับอารมณ์ และควบคุมอารมณ์ตนเองได้
  • นำการฝึกปฏิบัติ กำหนดสมาธิ หรือสติ โดยการฝึกหายใจเข้าออก นับเลข ทำงาน ฟังเพลง อ่านหนังสือ สร้างงานศิลปะ งานเขียน ฯลฯ เพื่อให้สมาธินิ่งอยู่กับตนเองได้นานเมื่อเผชิญภาวะก่อให้เกิดอารมณ์ ก็จะมีวิธีการควบคุมอารมณ์ตนเองได้ดี
  • พาไปออกกำลังกาย การฝึกบริหารสมอง เช่น แอโรบิค ฮูลาฮูป กิจกรรมเข้าจังหวะ เล่นกีฬา ปั่นจักรยาน ร้องเพลง ซึ่งเป็นการฝึกให้เด็กมีพัฒนาการทางอารมณ์และสติปัญญาไปพร้อมๆกัน
  • พ่อแม่ ผู้ปกครองที่นิ่ง เมื่อถูกยั่วยุให้โกรธ ลูกๆก็จะซึมซับความมีน้ำอดน้ำทน ของพ่อแม่ ผู้ปกครอง
  • พ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่มีความยืดหยุ่น มีมุมมองต่อปัญหาในแง่บวกก็เป็นตัวอย่างให้ลูกๆเลียนแบบและซึมซับ ประทับตราแม่แบบอารม์ไว้อย่างมั่นคง

เอกสารอ้างอิง

สำนักวิชาการและมาตราฐานการศึกษา และ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ. (2561). เอกสารการเสริมสร้างทักษะชีวิตตามจุดเน้นการพัฒนาผู้เรียนโดยผู้ปกครอง"เอาถ่านทั้งบ้านเลย". สืบค้นจาก http://lifeskills.obec.go.th/old/pdf/e-Book_เอาถ่านทั้งบ้านเลย.pdf