การพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้

From Knowledge sharing space
Jump to: navigation, search

นวัตกรรมมีความสำคัญต่อการศึกษาหลายประการ ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงในทุกด้านอย่างรวดเร็ว เป็นผลมาจากความก้าวหน้าทั้งด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศ การศึกษาจึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงจากระบบการศึกษาที่มีอยู่เดิม เพื่อให้ทันสมัยต่อโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไป จึงเกิดเป็นคำว่านวัตกรรมการจัดการเรียนเรียนรู้ขึ้นมา โดยนักวิชาการและนักการศึกษาหลายท่านได้ระบุถึงความหมายของคำนี้ไว้อย่างหลากหลายดังนี้

ความหมายของนวัตกรรมการเรียนรู้

นวัตกรรม(innovation) = การคิดค้น(invention) + การประยุกต์ใช้(application)

คำว่า นวัตกรรมเป็นศัพท์บัญญัติของ คณะกรรมการพิจารณาศัพท์ วิชาการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเดิมใช้คำว่า “นวกรรม” มาจากคำภาษาอังกฤษว่า innovation โดยคำว่า นวัตกรรม หมายถึง การทำสิ่งใหม่หรือสิ่งที่ทำใหม่ เป็นการนำสิ่งใหม่ๆ เข้ามาเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมวิธีการที่ทำอยู่เดิม เพื่อให้ใช้ได้ผลดียิ่งขึ้น (บุญเกื้อ ควรหาเวช, 2543 : 11,12)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ 2542 ให้ความหมายว่า นวัตกรรม หมายถึง สิ่งที่ทำขึ้นใหม่หรือแปลกจากเดิมซึ่งอาจจะเป็นความคิด วิธีการ อุปกรณ์ เป็นต้น (ราชบัณฑิตยสถาน, 2546 : 565-566) นอกจากนี้ มีนักวิชาการให้ได้ความหมายของ “นวัตกรรม” ไว้ดังนี้

เสาวนีย์ สิกขาบัณฑิต (2558 : 1-2) ให้ความหมายเชิงสรุปว่า นวัตกรรมเป็นวิธีการปฏิบัติใหม่ที่แปลกไปจากเดิม โดยอาจจะได้มาจากการคิดค้นหรือการปรับปรุงเสริมแต่งของเก่าและสิ่งเหล่านี้ได้รับการทดลองและพัฒนาจนเป็นที่เชื่อถือได้ ทำให้ระบบบรรลุจัดมุ่งหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยหลักการสำคัญที่ใช้ในการพิจารณาว่าสิ่งใดเป็นนวัตกรรมคือ (1) เป็นสิ่งแปลกใหม่ไปจากเดิมซึ่งอาจจะเกิดจากการคิดค้นได้เอง จากการดัดแปลงของเดิมซึ่งอาจจะเกิดจากการคิดค้นขึ้นเอง จากการดัดแปลงของเดิมหรือจากการปรับปรุงเสริมแต่งของเดิม (2) ได้รับการตรวจสอบและทดลองและปรับปรุงพัฒนา และ (3) นำมาใช้หรือปฏิบัติได้จริง

ศิริกาญจน์ โกสุม (2554 : 3) ให้ความหมายว่า นวัตกรรม หมายถึง วิธีการ เครื่องมือหรือสื่อใหม่ๆ ที่จะช่วยทำให้งานหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม แม้ว่าวิธีการเครื่องมือหรือสิ่งใหม่ๆ นั้นจะเคยใช้ในที่อื่นได้ผลดีมาแล้วหรือไม่ก็ตาม สามารรถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ใหม่ได้หรือทำให้สามารถแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาในที่แห่งใหม่ได้

ชัยวัฒน์ สุทธิรัตน์ (2553 : 62) ให้ความหมายโดยสรุปว่า นวัตกรรมมีความหมาย คือ นวัตกรรมเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีผู้ใดเคยทำมาก่อนหรือเป็นสิ่งใหม่ที่เคยทำมาแล้วในอดีตแต่นำมาใช้ใหม่ หรือการนำนวัตกรรมเดิมที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาดัดแปลงให้ดีขึ้นแล้วนำมาใช้ใหม่ และที่สำคัญคือ นวัตกรรมนั้นจะต้องช่วยให้การจัดการเรียนรู้ เกิดผลดีมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงกว่าเดิมช่วยประหยัดเวลาและแรงงานได้ด้วย

นวัตกรรมทางการศึกษา (Educational Innovation)

นวัตกรรมที่นำมาใช้ในทางการศึกษา เรียกว่า นวัตกรรมทางการศึกษา (educational innovation) ซึ่งหมายถึง การนำเอาสิ่งใหม่ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของความคิดหรือการกระทำรวมทั้งสิ่งประดิษฐ์เข้ามาใช้ในระบบการศึกษาเพื่อมุ่งหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีอยู่เดิมในระบบการจัดการศึกษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น (บุญเกื้อ ควรกาเวช, 2543 : 14-15)

เกณฑ์ที่จะถือว่าเป็น “นวัตกรรมการศึกษา” ประกอบด้วย

(1) ต้องเป็นสิ่งใหม่ในระบบการศึกษา อาจใหม่ทั้งหมดหรือบงส่วนก็ได้ (2) ต้องมีการนำวิธีการจัดการระบบมาใช้ (3) อยู่ในกระบวนการทดลอง ทดสอบ และวิจัยว่าสามารถแก้ปัญหาหรือทำให้การศึกษามีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นหรือไม่ (4) ยังไม่เป็นที่ยอมรับหรือเป็นส่วนหนึ่งของงานการศึกษาปัจจุบัน เมื่อนวัตกรรมการศึกษาถูกนำมาใช้ได้ผลดีมีประสิทธิภาพจนเป็นที่ยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาแล้ว นวัตกรรมการศึกษานั้นๆ ก็จะกลายเป็นเทคโนโลยีการศึกษาต่อไป

โดยสรุปแล้ว นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ หรือนวัตกรรมการเรียนการสอน (instructional innovation) หมายถึง แนวคิด รูปแบบ วิธีการ กระบวนการ หรือสื่อการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่ครูนำมาใช้ในการแก้ปัญหาหรือพัฒนาการจัดการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพ และพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพ

ความสำคัญของนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้

นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ มีความสำคัญต่อการจัดการเรียนรู้ของครูผู้สอนและการเรียนรู้ของผู้เรียนดังนี้

1. การใช้นวัตกรรมเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาในการจัดการเรียนรู้ของครู

1.1 ปัญหาเกี่ยวกับวิธีการจัดการเรียนรู้ ครูไม่มีบทบาทเป็นผู้อำนวยการสอน ไม่เข้าใจความเป็น "โค้ช" ปัญหาที่ยังคงพบคือ ครูส่วนใหญ่ยังคงยึดรูปแบบวิธีการสอนแบบบรรยายโดยมีครูเป็นศูนย์กลางที่เน้นการพูดบรรยายถ่ายทอดเนื้อหาสาระมากกว่าการสอนในรูปแบบอื่น การสอนด้วยวิธีการแบบนี้ทำให้ผู้เรียนเป็นฝ่ายรับรู้ (passive learner) ซึ่งจะส่งให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะที่มีความสามารถในเชิงการคิด ประดิษฐ์สร้างสรรค์ผลงานได้น้อย(passive ability) มักเป็นคนประเภทบริโภคนิยม บรรยากาศของการสอนแบบบรรยายนอกจากจะทำให้ผู้เรียนเกิดความเบื่อหน่าย ขาดความสนใจแล้ว ยังเป็นการปิดกั้นความคิดและสติปัญญาของผู้เรียนให้อยู่ในขอบเขตจัดอีกด้วย แต่ถ้าครูผู้สอนได้ศึกษา ค้นหาวิธีการหรือนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มาใช้ในการจัดการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนมีบทบาทในการเรียนรู้มากขึ้นและเป็นฝ่ายลงมือปฏิบัติมากขึ้น (active learner) ก็จะทำให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะที่สามารถคิดประดิษฐ์สร้างสรรค์ผลงานได้มากขึ้น (active ability) ดังนั้น การนำนวัตกรรมมาใช้ในการจัดการเรียนรู้จึงช่วยแก้ปัญหาเรื่องวิธีการจัดการเรียนรู้

1.2 ปัญหาเกี่ยวกับเนื้อหาวิชาการที่ยากแก่การเข้าใจ จึงจำเป็นต้องนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการจัดการเรียนรู้ให้มีความเข้าใจมากขึ้น เช่น บทเรียนการ์ตูน, การใช้บทบาทสมมุติ(role play), การเรียนแบบร่วมมือ

1.3 ปัญหาเกี่ยวกับสื่อ อุปกรณ์การจัดการเรียนรู้ ในบางเนื้อหามีสื่อ อุปกรณ์การจัดการเรียนรู้เป็นจำนวนน้อย ไม่เพียงพอต่อการนำไปใช้ เพื่อทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาวิชาได้ง่ายขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาคิดค้นหาเทคนิควิธีการจัดการเรียนรู้และผลิตสื่อการจัดการเรียนรู้ใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้การจัดการเรียนรู้ให้เพียงพอและเหมาะสมกับสภาพผู้เรียนจึงจะทำให้การจัดการเรียนรู้บรรลุตามจุดประสงค์การเรียนรู้

2.การใช้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพ ในกรณีที่ครูต้องการจะพัฒนาการจัดการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จำเป็นที่ครูจะต้องแสวงหาหรือพัฒนานวัตกรรมเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพที่ส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียน เช่น ใช้วิธีการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานเพื่อพัฒนาทักษะด้านการคิด วิเคราะห์ การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างความรู้รักสามัคคี การใช้แหล่งเรียนรู้หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นสำหรับการเรียนรู้และสร้างความรักท้องถิ่น

3. ใช้นวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยที่ผู้เรียนมีความแตกต่างกันในหลายลักษณะ บางคนมีความสนใจในการเรียนและเรียนรู้ได้เร็ว ในขณะที่บางคนขาดแรงจูงใจในการเรียน จึงไม่ให้ความสนใจต่อการเรียนและเรียนรู้ได้ช้า


เรียบเรียงโดย ดร.เบ็ญจวรรณ ลี้เจริญ

เอกสารอ้างอิง

พิชิต ฤทธิ์จรูญ. (2559). เทคนิคการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มาวิทยาลัย.