การพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้

From Knowledge sharing space
Revision as of 13:51, 8 October 2018 by Benjawan (Talk | contribs) (Created page with " == ความหมายของนวัตกรรมการเรียนรู้ == นวัตกรรม(innovation) = การคิดค้น(inventio...")

(diff) ← Older revision | Latest revision (diff) | Newer revision → (diff)
Jump to: navigation, search

ความหมายของนวัตกรรมการเรียนรู้

นวัตกรรม(innovation) = การคิดค้น(invention) + การประยุกต์ใช้(application)

คำว่า นวัตกรรมเป็นศัพท์บัญญัติของ คณะกรรมการพิจารณาศัพท์ วิชาการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเดิมใช้คำว่า “นวกรรม” มาจากคำภาษาอังกฤษว่า innovation โดยคำว่า นวัตกรรม หมายถึง การทำสิ่งใหม่หรือสิ่งที่ทำใหม่ เป็นการนำสิ่งใหม่ๆ เข้ามาเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมวิธีการที่ทำอยู่เดิม เพื่อให้ใช้ได้ผลดียิ่งขึ้น (บุญเกื้อ ควรหาเวช, 2543 : 11,12)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ 2542 ให้ความหมายว่า นวัตกรรม หมายถึง สิ่งที่ทำขึ้นใหม่หรือแปลกจากเดิมซึ่งอาจจะเป็นความคิด วิธีการ อุปกรณ์ เป็นต้น (ราชบัณฑิตยสถาน, 2546 : 565-566) นอกจากนี้ มีนักวิชาการให้ได้ความหมายของ “นวัตกรรม” ไว้ดังนี้

เสาวนีย์ สิกขาบัณฑิต (2558 : 1-2) ให้ความหมายเชิงสรุปว่า นวัตกรรมเป็นวิธีการปฏิบัติใหม่ที่แปลกไปจากเดิม โดยอาจจะได้มาจากการคิดค้นหรือการปรับปรุงเสริมแต่งของเก่าและสิ่งเหล่านี้ได้รับการทดลองและพัฒนาจนเป็นที่เชื่อถือได้ ทำให้ระบบบรรลุจัดมุ่งหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยหลักการสำคัญที่ใช้ในการพิจารณาว่าสิ่งใดเป็นนวัตกรรมคือ (1) เป็นสิ่งแปลกใหม่ไปจากเดิมซึ่งอาจจะเกิดจากการคิดค้นได้เอง จากการดัดแปลงของเดิมซึ่งอาจจะเกิดจากการคิดค้นขึ้นเอง จากการดัดแปลงของเดิมหรือจากการปรับปรุงเสริมแต่งของเดิม (2) ได้รับการตรวจสอบและทดลองและปรับปรุงพัฒนา และ (3) นำมาใช้หรือปฏิบัติได้จริง

ศิริกาญจน์ โกสุม (2554 : 3) ให้ความหมายว่า นวัตกรรม หมายถึง วิธีการ เครื่องมือหรือสื่อใหม่ๆ ที่จะช่วยทำให้งานหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม แม้ว่าวิธีการเครื่องมือหรือสิ่งใหม่ๆ นั้นจะเคยใช้ในที่อื่นได้ผลดีมาแล้วหรือไม่ก็ตาม สามารรถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ใหม่ได้หรือทำให้สามารถแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาในที่แห่งใหม่ได้

ชัยวัฒน์ สุทธิรัตน์ (2553 : 62) ให้ความหมายโดยสรุปว่า นวัตกรรมมีความหมาย 3 นัย คือ นวัตกรรมเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีผู้ใดเคยทำมาก่อนหรือเป็นสิ่งใหม่ที่เคยทำมาแล้วในอดีตแต่นำมาใช้ใหม่ หรือการนำนวัตกรรมเดิมที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาดัดแปลงให้ดีขึ้นแล้วนำมาใช้ใหม่ และที่สำคัญคือ นวัตกรรมนั้นจะต้องช่วยให้การจัดการเรียนรู้ เกิดผลดีมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงกว่าเดิมช่วยประหยัดเวลาและแรงงานได้ด้วย


นวัตกรรมทางการศึกษา (Educational Innovation)

นวัตกรรมที่นำมาใช้ในทางการศึกษา เรียกว่า นวัตกรรมทางการศึกษา (educational innovation) ซึ่งหมายถึง การนำเอาสิ่งใหม่ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของความคิดหรือการกระทำรวมทั้งสิ่งประดิษฐ์เข้ามาใช้ในระบบการศึกษาเพื่อมุ่งหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีอยู่เดิมในระบบการจัดการศึกษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น (บุญเกื้อ ควรกาเวช, 2543 : 14-15)

เกณฑ์ที่จะถือว่าเป็น “นวัตกรรมการศึกษา” ประกอบด้วย

(1) ต้องเป็นสิ่งใหม่ในระบบการศึกษา อาจใหม่ทั้งหมดหรือบงส่วนก็ได้ (2) ต้องมีการนำวิธีการจัดการระบบมาใช้ (3) อยู่ในกระบวนการทดลอง ทดสอบ และวิจัยว่าสามารถแก้ปัญหาหรือทำให้การศึกษามีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นหรือไม่ (4) ยังไม่เป็นที่ยอมรับหรือเป็นส่วนหนึ่งของงานการศึกษาปัจจุบัน เมื่อนวัตกรรมการศึกษาถูกนำมาใช้ได้ผลดีมีประสิทธิภาพจนเป็นที่ยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาแล้ว นวัตกรรมการศึกษานั้นๆ ก็จะกลายเป็นเทคโนโลยีการศึกษาต่อไป

ครุรักษ์ ภิรมย์รักษ์ (2544 : 64) ให้ความหมายว่า นวัตกรรมการเรียนการสอน หมายถึง กระบวนการ วิธีการ หลักปฏิบัติ แนวความคิด เครื่องมือ หรือสื่อใหม่ๆที่ได้ผ่านการทดลองและพัฒนามาอย่างเป็นลำดับขั้นตอนแล้วนำมาใช้การเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพของการเรียนการสอน

นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้  หรือนวัตกรรมการเรียนการสอน  (instructional innovation) หมายถึง  แนวคิด  รูปแบบ  วิธีการ  กระบวนการ  หรือสื่อการเรียนรู้ใหม่ๆ  ที่ครูนำมาใช้ในการแก้ปัญหาหรือพัฒนาการจัดการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพ  และพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพ