แนวทางการพัฒนาทักษะชีวิตของเด็ก

From Knowledge sharing space
Revision as of 08:52, 28 August 2018 by Benjawan (Talk | contribs)

Jump to: navigation, search

เพื่อเป็นการพัฒนาทักษะชีวิตในขั้นพื้นฐานที่จะมีผลดีต่อไปในอนาคต พ่อ แม่ ผู้ปกครองและครูควรส่งเสริมลักษณะนิสัยขั้นพื้นฐานให้กับเด็กได้แก่ การรักเป็นเห็นคุณค่า, การมองตนเองและผู้อื่นในด้านบวก, การภาคภูมิใจในตนเองและผู้อื่น รายละเอียดถูกกล่าวถึงในแต่ละหัวข้อดังนี้

การรักเป็นเห็นคุณค่า

คือ การรักและเห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น เป็นความรู้สึกที่บุคคลเข้าใจตนเอง รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า จะทำอะไรด้วยตนเอง ภาคภูมิใจและเชื่อมั่นในตนเอง ผู้ที่รักและเห็นคุณค่าในตนเอง จะเป็นผู้ที่รู้จักเพิ่งตนเอง มีความรับผิดชอบ มีความภาคภูมิใจในตนเองสูง และสามารถเผชิญปัญหากับการเรียน การทำงาน การดำเนินชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเกิดความผิดพลาดจะยอมรับและแก้ไขข้อผิดพลาดได้อย่างรวดเร็ว มีสัมพันธภาพกับผู้อื่นเกี่ยวข้องได้อย่างอบอุ่น อ่อนโยน มากกว่าสัมพันธภาพที่แข็งกร้าว และควบคุมตนเองให้ดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข เกิดแรงจูงใจที่จะทำประโยชน์ต่อครอบครัวและส่วนรวมต่อไป

แนวทางการปฏิบัติของพ่อแม่ ผู้ปกครอง

  • ชี้แนะสนับสนุน และให้กำลังใจแก่บุตรหลานให้มีความพยายาม อดทน และตั้งใจทำในสิ่งที่ตั้งใจไว้จนสำเร็จ
  • สอนให้บุตรหลานรู้จักให้กำลังใจ หรือคำชมเชยแก่ตนเองและผู้อื่นด้วยความจริงใจ
  • ให้เวลากับบุตรหลานได้ร่วมกิจกรรมในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน เช่น ทำงานบ้านพัฒนาโรงเรียน วัด และชุมชน เป็นต้น

แนวทางการเสริมสร้างให้เด็กรักและเห็นคุณค่าในตนเอง

การสร้างความรู้สึกดี การมองเห็นสิ่งดีๆ ที่ตนเองมีอยู่ย่อมเป็นการสร้างคุณค่าในตนเอง เมื่อเห็นว่าตนเองเป็นคนดีมีคุณค่าก็ย่อมพยายามทำสิ่งที่ดีงามในชีวิตและไม่นำสิ่งเลวร้ายหรือไม่ดีเข้ามาในชีวิต

การรักและเห็นคุณค่าในตนเองเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานของการดำเนินชีวิต การส่งเสริมและปลูกฝังให้เด็กวัยอายุ 6-12 ปี ให้รักและเห็นคุณค่าในตนเองนั้น ทางด้านจิตวิทยาถือว่าวัยนี้เป็นวัยที่อยู่ในช่วงพัฒนาความรู้สึกและรับผิดชอบในตนเองที่จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการดำรงชีวิตอย่างมั่นคงต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ยังเป็นวัยที่เด็กสามารถพึ่งพาตนเอง มีความอยากรู้ อยากเห็น มีความสังเกต มีความสนใจต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวและไกลออกไปจากตังอย่างต่อเนื่องมีความสามรถในการแก้ปัญหาตามระดับสติปัญญา มีความต้องการที่จะเป็นคนสำคัญ เป็นที่นิยมชมชอบของบุคคลแวดล้อม ซึ่งลักษณะที่กล่าวมาข้างต้นนับว่าเป็นลักษณะที่มีความพร้อมและเป็นไปได้สูง ในการเสริมสร้างปลูกฝังการรักษาและเห็นคุณค่าในตนเองของเด็กในวัยนี้ เพื่อเป็นการพัฒนาทักษะชีวิตในขั้นพื้นฐานที่จะมีผลดีต่อไปในอนาคต

ลักษณะของการรักและเห็นคุณค่าในตนเอง

ลักษณะของบุคคลทีรักและเห็นคุณค่าในตนเองสูงจะเป็นผู้ที่มีความคิดในด้านบวก(Positive Thinkng) บอคุณค่าในความสามารถของตนเองและผู้อื่นได้ตามความเป็นจริง มีความเป็นตัวของตัวเอง พึ่งตนเองได้ไม่รอพึ่งผู้อื่น มีความคิดที่ก่อให้เกิดการกระทำที่สร้างสรรค์ ลักษณะของบุคคลที่รักและเห็นคุณค่าในตนเองสูง จำแนกได้ดังนี้

  • มีใบหน้า ท่าทาง วิธีการพูด การเคลื่อนไหวแฝงไว้ด้วยความแจ่มใส ร่าเริง มีชีวิตชีวา มีความปิติยินดีปรากฏอยู่ในตัว
  • สามารถพูดถึงความสำเร็จ หรือข้อบกพร่องของตนได้อย่างตรงไปตรงมา และด้วยน้ำใจจริง
  • สามารถเป็นผู้ให้ และผู้รับคำชมเชยอย่างเป็นปกติ แสดงออกซึ่งความรัก ความซาบซึ้งต่างๆ ให้เห็นอยู่เสมอ
  • สามารถเปิดใจรับคำตำหนิและไม่ทุกข์ร้อน เมื่อมีผู้กล่าวถึงความผิดพลาดของตน
  • การพูดและการเคลื่อนไหวมีลักษณะไม่วิตกกังวลเป็นไปตามธรรมชาติ
  • มีความกลมกลืนกันเป็นอย่างดีระหว่างคำพูด การกระทำ การแสดงออก และการเคลื่อนไหว
  • มีทัศนคติที่เปิดเผย อยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับแนวคิด และประสบการณ์ และโอกาสใหม่ๆของชีวิต
  • การที่จะเห็นความสนุกสนานกับมุกตลกของชีวิตทั้งของตนและผู้อื่น และพูดถึงมุมตลกนั้นให้ผู้อื่นรับรู้อยู่เสมอ เช่น เขาเป็นคนโก๊ะมากเลย ฯลฯ
  • มีทัศนะคติที่ยืดหยุ่นในการตอบสนองต่อสถานการณ์ และสิ่งท้าทาย
  • มีพฤติกรรมการแสดงออกในทางที่เหมาะสมกับกาลเทศะและสถานการณ์
  • เป็นตัวของตัวเอง แม้ตกอยู่ภายในสถานการณ์ที่มีความเครียด
  • พึ่งตนเองได้โดยไม่รีรอการช่วยเหลือจากผู้อื่น

แนวปฏิบัติสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง

1. ให้กำลังใจและพูดชื่นชม

พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องส่งเสริมให้บุตรหลานพัฒนาตนเองตามความสามารถ ความถนัด และความชื่นชมของตนเองอย่างมีเหตุผลบนพื้นฐานข้อมูลที่เป็นจริง ของเด็ก ลูกหลาน และพึงตระหนักอยู่เสมอว่า หัวใจสำคัญของการพัฒนาและเสริมสร้างการรักและเห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่นให้เกิดขึ้นในตัวเด็ก คือ “พ่อแม่ ผู้ปกครองมีความรักและเห็นคุณค่าในตัวบุตรหลาน เคารพต่อศักดิ์ความเป็นมนุษย์ของบุตรหลาน มีความเชื่อว่าบุตรหลานสามารถพัฒนาได้ตามศักยภาพ ใช้การสื่อสารทางบวก ที่สร้างกำลังใจ พูดชื่นชมทุกครั้งที่บุตรหลานปฏิบัติดี”

2. ยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญ

โดยสอนให้รู้จักความรับผิดชอบภาระพื้นฐานในชีวิตของเขา มอบเป็นผู้รับผิดชอบเต็มในงาน แล้วยกย่องชมเชยให้บุคคลอื่นฟัง ให้รางวัลเมื่อเห็นว่าเขาดีอย่างต่อเนื่อง ให้คุณค่าการกระทำของเขา เช่น ช่วยงานบ้าน ล้างแก้ว ล้างจาน ช่วยปิดไฟ ปิดพัดลม หรือปิดประตู ดูแลมุมต้นไม้ในบ้าน ดูแลสัตว์เลี้ยง ให้อาหารสัตว์ในบ้าน ดูแลขยะ เอาขยะไปทิ้ง ซักผ้า เอาผ้าออกจากเครื่องไปตาก ฯลฯ


การมองตนเองและผู้อื่นในด้านบวก

คือ การมองตนเองและผู้อื่นในแง่บวก คือ การแสดงความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น การจัดการกับอารมณ์ของตนเอง คือ การจัดการกับอารมณ์ตนเองที่เกิดขึ้นอย่างแบพลันที่อาจก่อให้เกิดปัญหาด้วยวิธีการที่เหมาะสมและสร้างสรรค์

มองดี อารมณ์ดี แล้วเป็นอย่างไร

ผู้ที่มองตนเองและผู้อื่นในแง่บวก จะเป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีสุขภาพดีทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต มองเห็นทางออกของปัญหาได้ดี ปรับตัวในทุกสถานการณ์ � แนวทางการเสริมสร้างให้เด็กมองตนเองและผู้อื่นในแง่บวกและจัดการกับอารมณ์ของตนเอง

ความคิดเป็นตัวกำหนดชีวิต ดังคำพูดที่ว่า “ความคิดเปลี่ยน ชีวิตเปลี่ยน” ความคิดและอารมณ์มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน หากเรามีอารมณ์ทางบวกหรือคิดทางบวก พฤติกรรมที่แสดงออกมาย่อมเป็นในทางบวก หากเรามีอารมณ์ทางลบหรือคิดทางลบ พฤติกรรมที่แสดงออกย่อมเป็นไปในทางลบด้วย

ลักษณะความคิดทางบวกและความคิดทางลบ ความคิดทางบวก เป็นความคิดที่นำความสุขสู่ตนเอง ได้แก่ มีอารมณ์ขัน มองสิ่งที่เหลืออยู่มากกว่าสิ่งที่ขาด และสิ่งที่ไม่มีหรือหาสิ่งทดแทนจากการสูญเสีย มองปัญหาว่ามีทางแก้ไข เมื่อมีปัญหามองว่า “อะไรผิด” มากกว่าที่จมองว่า “ใครผิด” มีสติอยู่กับปัจจุบัน รู้ว่าตนเองทำอะไร เพื่ออะไร ตั้งความหวังไว้อย่างสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงทั้งของตนเองและผู้อื่น ความคิดทางลบ เป็นความคิดที่นำความทุกข์มาสู่ตนเอง ได้แก่ ตั้งความหวังไว้สูงเกินไป ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น คาดการณ์ไปในทางร้ายหรือทางสูญหาย คิดแต่ความไม่ดี อุปสรรคและปัญหาที่บั่นทอนความสำเร็จ ตำหนิเอง หรือมองตนเองว่าไร้ความสามารถ ไม่เก่ง เรียนสู้ผู้อื่นไม่ได้หรือโทษตนเอง การไม่อยู่กับปัจจุบัน วิตกกังวลกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง หรือหมกมุ่นครุ่นคิดติอยู่กับอดีตที่ผ่านมา อยากแก้อดีตที่เป็นไปไม่ได้ คิดแค้น เอาคืน ฉันทุกข์อย่างไร ผู้อื่นต้องทุกข์เท่ากับฉัน หรือต้องมากกว่าฉัน เป็นต้น

แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ปกครองเพื่อเสริมสร้างการมองบวก

การสื่อสารเชิงบวกเป็นทักษะพื้นฐานที่พ่อแม่ ผู้ปกครองควรเรียนรู้และนำไปปฏิบัติกับบุตรหลานทั้งคำพูดและกิริยาท่าทางดังนี้

  • สบตา แสดงสีหน้ายอมรับขณะสนทนา และเลือกใช้คำพูดที่เหมาะสม
  • แสดงท่าทางที่เหมาะสม เช่น ผงกศีรษะรับฟัง โน้มตัวเข้าหาแสดงให้เห็นว่ารับฟังด้วยความตั้งใจ
  • รู้จักการสัมผัส เช่น การจับมือ โอบกอด ทำให้รู้สึกอบอุ่น
  • หมั่นบอกความรู้สึกของตนให้บุตรหลานได้รับรู้ทำให้เข้าใจกันและกัน
  • รับฟังความคิดเห็นของบุตรหลาน รู้จักชื่นชมและขอบคุณ
  • รักษาบรรยากาศที่ดีในครอบครัว
  • สร้างข้อตกลงที่ชัดเจนภายในครอบครัว ว่าสิ่งไหนปฏิบัติได้/ไม่ได้ หรือกำหนดหน้าทีในการทำงานภายในครอบครัว
  • ควรปฏิบัติตนเสมอต้นเสมอปลาย
  • แสดงการรับรู้หรือให้รางวัลชื่นชมต่อพฤติกรรมที่พึงประสงค์
  • ไม่แสดงอารมณ์โกรธ หรือสูญเสียการควบคุมตนเอง
  • ไม่ทะเลาะกันให้บุตรหลานเห็น
  • ยอมรับข้อผิดพลาดของสมาชิกในครอบครัวว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้
  • ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีต่อบุตรหลานทั้งคำพูดและการกระทำในสิ่งที่อยากให้บุตรหลานปฏิบัติ
  • แสดงความรู้สึกและใช้เหตุผลอธิบายให้บุตรหลานเข้าใจในสิ่งที่ไม่อนุญาตให้บุตรหลานปฏิบัติ
  • ปฏิบัติให้บุตรหลานเห็นถึงการยมรับความคิดเห็นของผู้อื่นหรือเคารพสิทธิของผู้อื่น
  • ใช้อารมณ์ขันตามโอกาสเหมาะสม
  • ไม่เปรียบเทียบเขากับผู้อื่น
  • พยายามให้เขามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆอยู่เสมอ

แนวทางการเสริมสร้างให้เด็กมองตนเองและผู้อื่นเชิงบวก

พูดคุย สนทนา ซักถาม ให้ทำงาน ให้เด็กทำตามความต้องการของผู้ใหญ่ด้วยคำพูด กิริยาท่าทาง ผ่อนคลาย ไม่แสดงอำนาจท่าทางที่ข่มขู่ ชวนดูข่าว ภาพยนตร์ ละคร และชี้ชวนให้วิเคราะห์ถึงปัญหา สาเหตุ ผลกระทบของการมองตนเองในแง่ลบ หรือโทษตนเอง ฝึกให้เด็กคิดและมองผู้อื่น มองสิ่งแวดล้อมรอบตัวในแง่บวก พูดบอกใช้กิริยาท่าทางสื่อสารทางบวกกับพี่น้อง ปู่ย่า ตายาย และเพื่อนๆ อย่างสม่ำเสมอ ฝึกให้รู้จักการพูด ขอบคุณ ขอโทษ พูดชมและพูดให้กำลังใจตนเอง น้อง พี่และบุคคลอื่นๆ เมื่อมีการโต้แย้งหรือความคิดเห็นไม่สอดคล้องกัน ให้ฝึกแสดงความคิดเห็นเชิงบวก ไม่ตำหนิ วิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นด้วยอารมณ์ แต่ให้ใช้เหตุผล ฝึกแสดงกริยา วาจา ใจ ให้แสดงออกทางบวก ได้แก่ การยิ้ม (วันนี้คุณยิ้มหรือยัง) การแสดงกิริยาที่ชื่นชม ให้กำลังใจผู้อื่น เช่น การแสดงสัญลักษณ์ต่างๆ (ทำท่ามือ) การสบตาหรือใช้สายตาสื่อสาร ดีใจ เสียใจ ชื่นชม ฯลฯ การพูดทักทายที่แสดงความเป็นมิตร เช่น สวัสดีจ๊ะ ยินดีที่ได้รู้จัก สวัสดีจ๊ะ วันนี้เธอดูสดใสจัง สวัสดีเพื่อน……….ดีใจจังที่พบเธอ ฯลฯ การสัมผัสด้วยการจับมือ การกอด การแตะ ที่เป็นการให้กำลังใจ รับรู้ความทุกข์ขงผู้อื่น

แนวทางการฝึกบุตรหลานให้ควบคุมอารมณ์โกรธ

อารมณ์เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่มากระทบจิตใจ เช่น คำพูด การกระทำ สถานการณ์และเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งอาจแสดงออกทางร่างกายในลักษณะต่างๆ เช่น หน้าซีด หน้าแดง น้ำตาไหล เสียงดัง ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว เป็นต้น อารมณ์เป็นความรู้สึกที่มีผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบ การแสดงอารมณ์ที่ไม่ได้รับการควบคุม อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อตนเองและผู้อื่น การควบคุมอารมณ์และการจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน เป็นทักษะที่เรียนรู้และฝึกฝนได้ โดยการฝึกอย่างเป็นขั้นตอนที่ถูกวิธีการจัดการอารมณ์ จะทำให้เกิดพฤติกรรมที่ดี และควรเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาและสถานการณ์ ในวัยเด็ก อารมณ์ที่มักเกิดขึ้นและไม่สามารถควบคุมได้ทันทีทันใด คือ อารมณ์โกรธ ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครองควรมีวิธีการจัดการกับอารมณ์โกรธ ดังนี้

สอนให้ลูก “รู้จัก” อารมณ์โกรธ เมื่อลูกทะเลาะกันและเกิดอารมณ์โกรธ พ่อแม่ส่วนใหญ่มักสั่งให้ลูกหยุดโกรธทันทีซึ่งเป็นการฝืนธรรมชาติ และเราจะพบเห็นเสมอ พ่อแม่ก็จะเทศนาสั่งสอนอีกยกใหญ่ โดยไม่ใส่ใจว่าอารมณ์ของลูกในขณะนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ผิดขั้นตอน และไร้ผลเพราะขณะที่อารมณ์เป็นฟืนเป็นไฟ เด็กจะไม่สนใจฟังคำสั่งสอนของพ่อแม่ แต่เด็กต้องการคนที่เข้าใจอารมณ์ว่าเขารู้สึกอย่างไร การทำให้ลูกรู้ตัวและเข้าใจอารมณ์โกรธขณะนั้น เป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรทำเป็นอันดับแรก เมื่ออารมณ์โกรธของลูกคลายลงแล้ว จึงมีความพร้อมที่จะรับฟังคำสั่งสอน หรือข้อเสนอแนะของพ่อแม่ ฝึกให้ลูกรู้จักและเข้าใจอารมณ์ของตัวเอง จะทำให้ลูกรู้ตัวเร็วขึ้น และสามารถจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้ ซึ่งเป็นความฉลาดอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้ลูกอยู่อย่างมีความสุขร่วมกับผู้อื่น และประสบความสำเร็จในชีวิต

สิ่งที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรทำ หลักสำคัญในการจัดการความโกรธ คือ ให้ลูกแยกตัวออกมาจากเหตุการณ์อยู่ในบรรยากาศที่สงบเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ ให้ระบายความรู้สึก เช่น พูดคุยกับคนที่เข้าใจ ให้รู้ตัวว่ากำลังโกรธ โดยให้สังเกตหน้าตาส่องกระจกดูตนเอง หรือตรวจเช็คสภาพของตนเองว่า กำลังเกร็ง หายใจเกร็ง ขมวดคิ้วอยู่หรือไม่ หรือควรเช็คสภาพจิตใจว่าปั่นป่วนแค่ไหน เมื่อความโกรธลดลงแล้ว ค่อยมาหาวิธีแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก

สิ่งที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ไม่ควรทำ ไม่ปะทะกับลูกในขณะที่พ่อแม่ ผู้ปกครองมีอารมณ์โกรธ พ่อแม่ควรสำรวจตัวเองด้วยเพราะบางทีก็โกรธที่เห็นลูกทะเลาะกัน การเข้าใจจัดการความโกรธด้วยอารมณ์ ใช้เสียงดัง ใช้กำลังลงโทษรุนแรงกับลูก ลูกจะเลียนแบบการจัดการปัญหาด้วยอารมณ์ของพ่อแม่ เมื่อพ่อแม่ ผู้ปกครองเผชิญปัญหาการควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ของลูกหลาน เมื่อเกิดความไม่พอใจ จะควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ จะเอะอะโวยวายก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาท หรือมีเรื่องกระทบกระทั่งทางกายอยู่เสมอ

วิธีการจัดการกับปัญหา การควบคุมอารมณ์ไม่ได้ของบุตรหลาน พ่อแม่แสดงออกให้ลูกรู้ว่า รักห่วงใยและเข้าใจลูกด้วยการแตะไหล่ จับมือ โดยกอดและปกป้อง จากนั้นต้องใกล้ชิดสนิทสนมกับลูกอย่างสม่ำเสมอ พูดคุยให้ลูกเข้าใจถึงความห่วงใยของพ่อแม่ว่า กลัวจะเกิดผลเสียของการไม่ควบคุมอารมณ์ตนเอง และการมีเรื่องกระทบกระทั่ง ทะเลาะวิวาทกับผู้อื่น ชวนลูกฝึกการควบคุมอารมณ์ การนับเลข การหายใจเข้าออก หนีออกจากสถานการณ์นั้นไปก่อน ชวนลูกฝึกการรับรู้อารมณ์ตนเอง เพื่อให้รู้เท่ทันอารมณ์ สถานการณ์หรือเหตุการณ์หรือการกระทำ คำพูดอะไรบ้างที่ทำให้เราเกิดอารมณ์ให้หลีกเลี่ยงหรือรับรู้ว่า อารมณ์ก้าวร้าว เกิดขึ้นเมื่อไรก็ให้ควบคุมอารมณ์นั้นไว้ หลีกหนีออกจากต้นเหตุนี้ พูดหรือใช้ภาษากายให้กำลังใจ เมื่อลูกเริ่มฝึกควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ พ่อแม่ไม่ควรพูดคุยกับลูก เมื่อต่างฝ่ายต่างมีอารมณ์ และใช้กิริยาท่าทางที่แสดงออกว่าเข้าใจ เห็นใจ และรับรู้แล้วพร้อมจะช่วยเหลือลูก

พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยวิธีเชิงบวก ปัญหาในชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้น เป็นโอกาสดีในการฝึกลูกให้แก้ไขปัญหาจากเรื่องง่ายๆ ไปเรื่องยากๆ พ่อแม่ควรชี้แนะด้วยความรักและชื่นชมเมื่อลูกแก้ปัญหาได้ จะทำให้เด็กมั่นใจและสุดท้ายภาคภูมิใจในตัวพ่อแม่ที่สอนเขาให้รับมือกับปัญหาได้


วิธีการจัดการปัญหา การควบคุมอารมณ์ไม่ได้ของบุตรหลาน

พ่อแม่แสดงออกให้ลูกรู้ว่า รักห่วงใยและเข้าใจลูกด้วยการและไหล่ จับมือ โดยกอด และปกป้อง จากนั้นต้องใกล้ชิดสนิทสนมกับลูกอย่างสม่ำเสมอ ๒. พูดคุยให้ลูกเข้าใจถึงความห่วงใยของพ่อแม่ กลัวจะเกิดผลเสียของการไม่ควบคุมอารมณ์ตนเอง และการมีเรื่องกระทบกระทั่ง ทะเลาะวิวาทกับผู้อื่น 3. ชวนลูกฝึกการควบคุมอารมณ์ - การนับเลข - การหายใจเข้าออก - หนีออกจากสถานการณ์นั้นไปก่อน 4. ชวนลูกฝึกการรับรู้อารมณ์ตนเอง เพื่อให้รู้เท่ากันอารมณ์ - สถานการณ์หรือเหตุการณ์หรือกระทำ คำพูดอะไรบ้างที่ทำให้เราเกิดอารมณ์ให้หลีกเลียงหรือรับรู้ว่า อารมณ์ก้าวร้าว โกรธมาก เกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ให้ควบคุมอารมณ์นั้นไว้ หลีกหนีออกจากต้นเหตุนี้ พูดหรือใช้ภาษากายให้กำลังใจ เมื่อลูกเริ่มฝึกควบคุมอารมณ์ของตนเอง 5. พ่อแม่ไม่ควรพูดคุยกับลูก เมื่อต่างฝ่ายต่างมีอารมณ์ และใช้กิริยาท่าทางที่แสดงออกว่าเข้าใจ เห็นใจ และรับรู้แล้วพร้อมที่จะช่วยเหลือลูก พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยวิธีการเชิงบวก ปัญหาในชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้น เป็นโอกาสดีในการฝึกลูกให้แก้ไขปัญหาจากเรื่องง่ายๆ ไปเรื่องยากๆ พ่อแม่ควรชี้แนะด้วยความรักและชื่นชมเมื่อลูกแก้ปัญหาได้ จะทำให้เด็กมั่นใจและสุดท้ายภาคภูมิใจในตัวพ่อแม่ที่สอนเขาให้รับมือกับปัญหาได้


การภาคภูมิใจในตนเองและผู้อื่น

การใช้ข้อมูลให้เป็นประโยชน์สร้างความสุขให้กับตัวเอง

เอกสารอ้างอิง

สำนักวิชาการและมาตราฐานการศึกษา และ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ. (2561). เอกสารการเสริมสร้างทักษะชีวิตตามจุดเน้นการพัฒนาผู้เรียนโดยผู้ปกครอง"เอาถ่านทั้งบ้านเลย". สืบค้นจาก http://lifeskills.obec.go.th/old/pdf/e-Book_เอาถ่านทั้งบ้านเลย.pdf