แนวทางการพัฒนาทักษะชีวิตของเด็ก
เพื่อเป็นการพัฒนาทักษะชีวิตในขั้นพื้นฐานที่จะมีผลดีต่อไปในอนาคต พ่อ แม่ ผู้ปกครองและครูควรส่งเสริมลักษณะนิสัยขั้นพื้นฐานให้กับเด็กได้แก่ การรักเป็นเห็นคุณค่า, การมองตนเองและผู้อื่นในด้านบวก, การภาคภูมิใจในตนเองและผู้อื่น รายละเอียดถูกกล่าวถึงในแต่ละหัวข้อดังนี้
การรักเป็นเห็นคุณค่า
คือ การรักและเห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น เป็นความรู้สึกที่บุคคลเข้าใจตนเอง รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า จะทำอะไรด้วยตนเอง ภาคภูมิใจและเชื่อมั่นในตนเอง ผู้ที่รักและเห็นคุณค่าในตนเอง จะเป็นผู้ที่รู้จักเพิ่งตนเอง มีความรับผิดชอบ มีความภาคภูมิใจในตนเองสูง และสามารถเผชิญปัญหากับการเรียน การทำงาน การดำเนินชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเกิดความผิดพลาดจะยอมรับและแก้ไขข้อผิดพลาดได้อย่างรวดเร็ว มีสัมพันธภาพกับผู้อื่นเกี่ยวข้องได้อย่างอบอุ่น อ่อนโยน มากกว่าสัมพันธภาพที่แข็งกร้าว และควบคุมตนเองให้ดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข เกิดแรงจูงใจที่จะทำประโยชน์ต่อครอบครัวและส่วนรวมต่อไป
แนวทางการปฏิบัติของพ่อแม่ ผู้ปกครอง
- ชี้แนะสนับสนุน และให้กำลังใจแก่บุตรหลานให้มีความพยายาม อดทน และตั้งใจทำในสิ่งที่ตั้งใจไว้จนสำเร็จ
- สอนให้บุตรหลานรู้จักให้กำลังใจ หรือคำชมเชยแก่ตนเองและผู้อื่นด้วยความจริงใจ
- ให้เวลากับบุตรหลานได้ร่วมกิจกรรมในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน เช่น ทำงานบ้านพัฒนาโรงเรียน วัด และชุมชน เป็นต้น
แนวทางการเสริมสร้างให้เด็กรักและเห็นคุณค่าในตนเอง
การสร้างความรู้สึกดี การมองเห็นสิ่งดีๆ ที่ตนเองมีอยู่ย่อมเป็นการสร้างคุณค่าในตนเอง เมื่อเห็นว่าตนเองเป็นคนดีมีคุณค่าก็ย่อมพยายามทำสิ่งที่ดีงามในชีวิตและไม่นำสิ่งเลวร้ายหรือไม่ดีเข้ามาในชีวิต
การรักและเห็นคุณค่าในตนเองเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานของการดำเนินชีวิต การส่งเสริมและปลูกฝังให้เด็กวัยอายุ 6-12 ปี ให้รักและเห็นคุณค่าในตนเองนั้น ทางด้านจิตวิทยาถือว่าวัยนี้เป็นวัยที่อยู่ในช่วงพัฒนาความรู้สึกและรับผิดชอบในตนเองที่จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการดำรงชีวิตอย่างมั่นคงต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ยังเป็นวัยที่เด็กสามารถพึ่งพาตนเอง มีความอยากรู้ อยากเห็น มีความสังเกต มีความสนใจต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวและไกลออกไปจากตังอย่างต่อเนื่องมีความสามรถในการแก้ปัญหาตามระดับสติปัญญา มีความต้องการที่จะเป็นคนสำคัญ เป็นที่นิยมชมชอบของบุคคลแวดล้อม ซึ่งลักษณะที่กล่าวมาข้างต้นนับว่าเป็นลักษณะที่มีความพร้อมและเป็นไปได้สูง ในการเสริมสร้างปลูกฝังการรักษาและเห็นคุณค่าในตนเองของเด็กในวัยนี้ เพื่อเป็นการพัฒนาทักษะชีวิตในขั้นพื้นฐานที่จะมีผลดีต่อไปในอนาคต
ลักษณะของการรักและเห็นคุณค่าในตนเอง
ลักษณะของบุคคลทีรักและเห็นคุณค่าในตนเองสูงจะเป็นผู้ที่มีความคิดในด้านบวก(Positive Thinkng) บอคุณค่าในความสามารถของตนเองและผู้อื่นได้ตามความเป็นจริง มีความเป็นตัวของตัวเอง พึ่งตนเองได้ไม่รอพึ่งผู้อื่น มีความคิดที่ก่อให้เกิดการกระทำที่สร้างสรรค์ ลักษณะของบุคคลที่รักและเห็นคุณค่าในตนเองสูง จำแนกได้ดังนี้
- มีใบหน้า ท่าทาง วิธีการพูด การเคลื่อนไหวแฝงไว้ด้วยความแจ่มใส ร่าเริง มีชีวิตชีวา มีความปิติยินดีปรากฏอยู่ในตัว
- สามารถพูดถึงความสำเร็จ หรือข้อบกพร่องของตนได้อย่างตรงไปตรงมา และด้วยน้ำใจจริง
- สามารถเป็นผู้ให้ และผู้รับคำชมเชยอย่างเป็นปกติ แสดงออกซึ่งความรัก ความซาบซึ้งต่างๆ ให้เห็นอยู่เสมอ
- สามารถเปิดใจรับคำตำหนิและไม่ทุกข์ร้อน เมื่อมีผู้กล่าวถึงความผิดพลาดของตน
- การพูดและการเคลื่อนไหวมีลักษณะไม่วิตกกังวลเป็นไปตามธรรมชาติ
- มีความกลมกลืนกันเป็นอย่างดีระหว่างคำพูด การกระทำ การแสดงออก และการเคลื่อนไหว
- มีทัศนคติที่เปิดเผย อยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับแนวคิด และประสบการณ์ และโอกาสใหม่ๆของชีวิต
- การที่จะเห็นความสนุกสนานกับมุกตลกของชีวิตทั้งของตนและผู้อื่น และพูดถึงมุมตลกนั้นให้ผู้อื่นรับรู้อยู่เสมอ เช่น เขาเป็นคนโก๊ะมากเลย ฯลฯ
- มีทัศนะคติที่ยืดหยุ่นในการตอบสนองต่อสถานการณ์ และสิ่งท้าทาย
- มีพฤติกรรมการแสดงออกในทางที่เหมาะสมกับกาลเทศะและสถานการณ์
- เป็นตัวของตัวเอง แม้ตกอยู่ภายในสถานการณ์ที่มีความเครียด
- พึ่งตนเองได้โดยไม่รีรอการช่วยเหลือจากผู้อื่น
แนวปฏิบัติสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง 1. ให้กำลังใจและพูดชื่นชม
พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องส่งเสริมให้บุตรหลานพัฒนาตนเองตามความสามารถ ความถนัด และความชื่นชมของตนเองอย่างมีเหตุผลบนพื้นฐานข้อมูลที่เป็นจริง ของเด็ก ลูกหลาน และพึงตระหนักอยู่เสมอว่า หัวใจสำคัญของการพัฒนาและเสริมสร้างการรักและเห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่นให้เกิดขึ้นในตัวเด็ก คือ “พ่อแม่ ผู้ปกครองมีความรักและเห็นคุณค่าในตัวบุตรหลาน เคารพต่อศักดิ์ความเป็นมนุษย์ของบุตรหลาน มีความเชื่อว่าบุตรหลานสามารถพัฒนาได้ตามศักยภาพ ใช้การสื่อสารทางบวก ที่สร้างกำลังใจ พูดชื่นชมทุกครั้งที่บุตรหลานปฏิบัติดี”
2. ยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญ
โดยสอนให้รู้จักความรับผิดชอบภาระพื้นฐานในชีวิตของเขา มอบเป็นผู้รับผิดชอบเต็มในงาน แล้วยกย่องชมเชยให้บุคคลอื่นฟัง ให้รางวัลเมื่อเห็นว่าเขาดีอย่างต่อเนื่อง ให้คุณค่าการกระทำของเขา เช่น ช่วยงานบ้าน ล้างแก้ว ล้างจาน ช่วยปิดไฟ ปิดพัดลม หรือปิดประตู ดูแลมุมต้นไม้ในบ้าน ดูแลสัตว์เลี้ยง ให้อาหารสัตว์ในบ้าน ดูแลขยะ เอาขยะไปทิ้ง ซักผ้า เอาผ้าออกจากเครื่องไปตาก ฯลฯ