ทักษะชีวิต (Life Skills)

From Knowledge sharing space
Revision as of 13:59, 3 August 2018 by Benjawan (Talk | contribs)

Jump to: navigation, search

ความสำคัญของทักษะชีวิต

ความล้ำสมัยของเทคโนโลยี ส่งผลต่อความรวดเร็วในการรับข้อมูลและการสื่อสาร ทำให้สังคมที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ วัฒนธรรมตลอดจนความคิดและความเชื่อของคนในสังคมจำเป็นต้องตั้งรับการมีวิถีชีวิตยุคใหม่อย่างมีวิจารณญานด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างมากนี้เอง ได้ส่งผลกระทบต่อเด็กวัยเรียน ทั้งการดำเนินชีวิตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง และความคาดหวังของผู้ปกครองต่อการศึกษาต่อของบุตรหลาน ประกอบกับการเผชิญกับสิ่งยั่วยุหรือตัวแบบที่ไม่เหมาะสมต่างๆ รอบตัว ก่อให้เกิดปัญหาต่อเด็กและเยาวชนอย่างมาก ทั้งปัญหาด้านการปรับตัว ปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจ ปัญหาสุขภาพ ปัญหาความรุนแรง ปัญหาที่มาจากสิ่งยั่วยุ เช่น ปัญหาเด็กติดเกมส์ ปัญหายาเสพติด ปัญหาจากพฤติกรรมทางเพศ เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้ถ้าไม่ได้รับการแก้ไข หรือเตรียมการปกป้องหรือสร้างภูมิคุ้มกันโดยเฉพาเด็กและเยาวชนที่ไม่มีความคุ้มกันทางสังคม และทักษะชีวิต ส่งผลให้เมื่อจบการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว อาจเป็นคนที่ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต มีปัญหาทางอารมณ์ จิตใจ และมักจะมีความขัดแย้งในชีวิตได้ง่าย และส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม ซึ่งจะเป็นภาระในสังคม ดังนั้น โงเรียนและครูจึงมีความสำคัญต่อการการสร้างภูมิคุ้มกัน หรือพัฒนาทักษะชีวิตในเด็กนักเรียน ทั้งนี้โดยการจดกิจกรรมในโรงเรียนและการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะชีวิตเป็นภูมิคุ้มกัน ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ตั้งรับต่อการก้าวรุกทางสังคมได้อย่างรู้เท่าทัน

ความหมายของทักษะชีวิต

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  (สพฐ.)  ให้คำจำกัดความของคำว่า “ทักษะชีวิต” (Life Skills) หมายถึง  “ความสามารถของบุคคลที่จะจัดการกับปัญหาต่างๆ  รอบตัวในสภาพสังคมปัจจุบันและเตรียมพร้อมสำหรับการปรับตัวในอนาคต”  

ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบคือ

1. การตระหนักรู้และเห็นถึงคุณค่าในตนเองและผู้อื่น

การตระหนักรู้และเห็นถึงคุณค่าในตนเองและผู้อื่น หมายถึง การรู้ความถนัด ความสามารถ รู้จุดเด่นจุดด้อยของตนเอง เข้าใจความแตกต่างของแต่ละ จักตนเอง ยอมรับ เห็นคุณค่าและ ภาคภูมิใจในตนเองและผู้อื่น มีเป้าหมายในชีวิต และมีความรับผิดชอบ

2. การคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจ และแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์

การคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจ และแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ หมายถึง การแยกแยะข้อมูลข่าวสารปัญหาและสถานการณ์รอบตัว วิพากษ์วิจารณ์และประเมินสถานการณ์รอบตัวด้วยหลักเหตุผลและข้อมูลที่ถูกต้อง รับรู้ปัญหา สาเหตุของปัญหา หาทางเลือกและตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ต่างๆอย่างสร้างสรรค์

3. การจัดการกับอารมณ์และความเครียด

การจัดการกับอารมณ์และความเครียด หมายถึง ความเข้าใจและรู้เท่าทันภาวะอารมณ์ของบุคคลรู้สาเหตุของความเครียด รู้วิธีการควบคุมอารมณ์และความเครียด รู้วิธีผ่อนคลาย หลีกเลี่ยง และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดอารมณ์ไม่พึงประสงค์ไปในทางที่ดี

4. การสร้างความสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น

การสร้างความสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น หมายถึง การเข้าใจมุมมอง อารมณ์ ความรู้สึกของผู้อื่นใช้ภาษาพูดและภาษากายเพื่อสื่อสารความรู้สึกนึกคิดของตนเอง รับรู้ความรู้สึกนึกคิดและความต้องการของผู้อื่น วางตัวได้ถูกต้องเหมาะสมในสถานการณ์ต่างๆ ใช้การสื่อสารที่สร้างสัมพันธภาพที่ดีสร้างความร่วมมือและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

สำหรับความเชื่อมโยงของทักษะชีวิตทั้ง 4 องค์ประกอบนั้น หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่า องค์ประกอบของทักษะชีวิตล้วนเชื่อมโยงกัน เช่น การตระหนักรู้และเห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่นก็ย่อมทำให้เด็กสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับบุคคลรอบข้างได้ เพราะเด็กเข้าใจตนเองและผู้อื่น เห็นคุณค่าและยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล การอยู่ร่วมกับผู้อื่นสามารถเป็นไปด้วยความเข้าใจและเปิดกว้าง ในขณะที่องค์ประกอบการจัดการกับอารมณ์และความเครียด ก็ต้องเริ่มด้วยการตระหนักรู้และเข้าใจตนเอง ทั้งในด้านอารมณ์และความคิด จากนั้นก็อาศัยทักษะในองค์ประกอบ การคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจ และแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสร้างความเข้าใจในตัวเอง ผู้อื่น และสถานการณ์ คิดไตร่ตรองทางเลือกแต่ละทางเลือก เพื่อหาทางการจัดการกับอารมณ์ของตนเองและสถานการณ์ที่ตึงเครียดได้อย่างเหมาะสม ซึ่งองค์ประกอบทักษะชีวิตที่เป็นแกนหลักของการเรียนรู้ คือ การวิเคราะห์ วิจารณ์และความคิดสร้างสรรค์