เทคนิคการใช้คำถามเพื่อการคิดวิเคราะห์และการคิดสร้างสรรค์
การใช้คำถาม(Inquiry) หรือ การสืบถาม
คือกระบวนการของการใช้คำถามเพื่อกระตุ้นให้เกิดการคิด การนำไปสู่การค้นหาเหตุผล ตรรกะ และพิจารณาสิ่งต่างอย่างครบถ้วนและรอบด้าน (บรรจง, 2556) นักการศึกษาในปัจจุบันจำนวนมากล้วนสนับสนุนที่ว่าทักษะการสืบถามคือเป้าประสงค์สำคัญอันหนึ่งของการศึกษาโดยเห็นว่าวิธีการนี้จะนำนักเรียนไปสุ่การสืบสวนสอบสวนในปรากฏการณ์จริง ซึ่งเป็นกระบวนการบ่มเพาะทักษะเชิงปัญญา เหมือนการสอนให้เด็กรู้จักถาม นำไปสู่การเรียนรู้ การรู้จักการคิดวิเคราะห์และการคิดสร้างสรรค์
เทคนิคการใช้คำถาม
บรรจง (2556) ได้กล่าวถึงการสอนที่มุ่งเน้นการตั้งคำถาม เพื่อให้เกิดการคิดของผู้เรียน ครูอาจใช้กลยุทธ์ในการกระตุ้นการคิดต่อไปนี้
- ระยะเวลาในการคิด
ควรได้มีเวลาพักในการคิด มีจังหวะช่วงเงียบ ควรให้เวลาอย่างน้อย 3วินาที ในการคิดหลังจากได้รับคำถาม และอีก 3วินาทีสำหรับการคิดเมื่อเด็กได้ให้คำตอบแล้ว
- การคิดเป็นคู่
ให้เวลาแต่ละคนได้คิดเสร็จแล้วก็ให้จับคู่แลกเปลี่ยนความเห็นกัน เสร็จแล้วก็เปิดโอกาสให้ทั้งชั้นเรียนได้อภิปรายแลกเปลี่ยนความเห็นกัน
- คำถามเพื่อติดตาม
ช่วยให้นักเรียนขยายความหรือให้ความกระจ่างในสิ่งที่เขาพูดด้วยการใช้คำถามที่ท้าทายความคิดเช่น ทำไม, คุณเห็นด้วยหรือไม่, ขอให้อธิบายเพิ่มได้ไหม, ขอให้ยกตัวอย่างคำตอบที่ได้มา
- อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจ
การสนองตอบต่อคำตอบของนักเรียนอย่าเพิ่งประเมินคำตอบโดยทันที โดยอย่าพูดว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ยกตัวอย่างว่าควรให้คำตอบเชิงบวกแต่แบบแสดงออกแบบกลางๆ เช่น ขอบคุณครับ โอเค เรื่องนี้น่าสนใจ เอาล่ะ หรือ ผมพอเข้าใจล่ะ
- เชื้อเชิญให้ทั้งกลุ่มแสดงความเห็น
การกระตุ้นให้ทั้งกลุ่มมีการสนองตอบ อาจเป็นแบบการให้ความเห็นเชิงสำรวจ อาทิ มีกี่คนที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยกับมุมมองดังกล่าว (อาจใช้การยกมือ) หรือไม่ก็เป็นการเชื้อเชิญให้มีคำถาม เช่น หลังจากได้ฟังเรื่องดังกล่าวอะไรคือคำถามที่เราควรจะถาม
- การขอสรุป
ส่งเสริมให้การฟังอย่างตั้งใจด้วยการขอให้มีการสรุปกับสิ่งที่พูดไป ดังตัวอย่าง ขอให้คุณช่วยสรุปในประเด็นที่คุณพลพูดไป ขอให้คุณอธิบายในสิ่งที่คุณงามตาเพิ่งพูดไป ขอให้ช่วยบอกว่าการโต้เถียงจนถึงขณะนี้เป็นอย่างไร
- ขอให้นักเรียนเสนอชื่อผู้ที่จะพูด
ให้นักเรียนได้ร่วมรับผิดชอบใบการเสนอชื่อผู้พูดรายถัดไป หรือเมื่อคุณได้พูดประเด็ดของคุณเสร็จ อาจเรียกขอให้ใครยกมือพูดความเห็นต่อประเด็นนั้น
- ทำเป็นตัวร้าย
ท้าทายให้นักเรียนให้เหตุผลกับมุมมองที่เขาเสนอมาด้วยการเสนอมุมมองที่ขัดแยงของเราออกไปเป็นตัวกระตุ้น หรือไม่ก็อาจขอให้นักเรียนลองยกตัวอย่างมาตอบโต้ หรือ อาจเชื้อเชิญว่า ใครมีมุมมองที่ต่างออกไปหรือต้องการโต้แย้ง
- เชื้อเชิญให้แสดงความ
เป็นการเปิดกว้างให้นักเรียนพิจารณาทางเลือกมุมมองใหม่ เช่นอาจกล่าวได้ว่า เรื่องนี้ไม่ใช่มีคำตอบเดียว ผมต้องการพิจารณาความเห็นมุมมองอื่น อาจใช้การเรียกสุ่มเอาให้แสดงความคิดเห็น และบางทีต้องพยายามหลีกเลี่ยงไม่ชี้ให้นักเรียนที่ยกมือพูดบ่อยๆ แล้ว
- กระตุ้นให้นักเรียนถามคำถาม
เชื้อเชิญให้นักเรียนถามคำถามได้ตอบก่อน ระหว่าง หรือ หลัง การอภิปราย อาทิ ลองคิดถึงคำถามที่ควรถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีใครถามคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้างหรือไม่คุณคิดว่ายังมีคำถามอะไรที่ยังคงต้องการคำตอบ
นอกจากนี้ วศิณีส์ (2560) ได้กล่าวถึงกลยุทธ์สำคัญที่เสนอแนะในเรื่องการตถามเพื่อพัฒนาการคิดคือ หลัก 3 P คือการหยุดชั่วขณะ (Pause) การพิสูจน์ (Prove) และการยกย่อง (Praise) การหยุดชั่วขณะก็เพื่อที่จะได้มีการคิด พิสูจน์คือการพิสูจน์คำถามนั้น และยกย่องให้กับการพยายามอย่างจริงจังของการมีส่วนต่อการอภิปรายผ่านทางการ พูด การฟัง และการคิด
เอกสารอ้างอิง
บรรจง อมรชีวิน. (2556). เปลี่ยนห้องเรียนให้เป็นห้องคิด(Thinking Classroom). กรุงเทพฯ: หจก.ภาพพิมพ์.
วศิณีส์ อิศรเสนา ณ อยุธยา. (2560). เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ STEM Education(สะเต็มศึกษา). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย