Difference between revisions of "การรู้จักตนเอง(Self Awareness)"
(Created page with "== การรู้จักตนเอง (Self Awareness) == การรู้จักตนเอง คือ การรู้สิ่งที่ตนเอ...") |
(No difference)
|
Latest revision as of 10:43, 10 August 2018
Contents
การรู้จักตนเอง (Self Awareness)
การรู้จักตนเอง คือ การรู้สิ่งที่ตนเองชื่นชมและภาคภูมิใจ รู้อารมณ์ตนเอง รู้ความสามารถตนเอง และแสดงความสามารถของตนเองให้ผู้อื่นรับรู้
รู้จักตนเองแล้วเป็นอย่างไร?
การสอนให้รู้จักตนเองเป็นการเสริมสร้างทักษะชีวิต โดยเด็กสามารถบอกว่าชอบ และไม่ชอบอย่างไร มีความรู้สึกต่อสิ่งที่พบเห็นอย่างไร หรือมีความรู้สึกแง่มุมอื่น เช่น ความกลัว ความต้องการ ความโกรธ จะทำให้เข้าใจตนเองมากขึ้น การรู้จักเข้าใจตนเอง จะช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาตนเองไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ และยิ่งรู้จักตนเองมากเท่าไรจะช่วยให้แก้ไขข้อบกพร่องของตนเองได้ดี ยอมรับ มั่นใจความสามารถของตน เกิดเป็นความภาคภูมิใจในตนเอง มีความพร้อมที่จะปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
แนวทางการปฏิบัติของพ่อแม่ ผู้ปกครอง
- พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องให้เวลาในการพูดคุย สนทนา เพื่อฝึกการสำรวจตัวเองทั้งด้านอารมณ์ ความรู้สึก ความสามารถและทำกิจกรรมร่วมกับบุตรหลานให้คำชมเชยแยะให้กำลังใจทันทีเมื่อบุตรหลานสามารถทำกิจกรรมได้ประสบผลสำเร็จ เช่น การโอบกอด การปรบมือ การหอมแก้ม การให้รางวัลที่บุตรหลานชื่นชอบ
- ส่งเสริมให้บุตรหลานได้แสดงออกถึงความถนัด ความสามารถตามความชอบอย่างสม่ำเสมอ
- เล่านิทานเรื่องสั้น เพื่อฝึกฝนการรู้จักจำแนกอารมดีและไม่ดี การแสดงออกทางอารมณ์ของตนเองอย่างเหมาะสม
แนวทางการเสริมสร้างให้เด็กรู้จักตนเอง
การสร้างเสริมและพัฒนาเด็กให้มีทักษะการรูจักตนเอง สามารถเสริมสร้างและพัฒนาได้หลายรูปแบบ ได้แก่ 1. ฝึกให้เด็กสำรวจตนเอง
สำหรับเด็กในวัยประถมศึกษาปีที่ 1 ต้องอาศัยพ่อแม่ ผู้ปกครอง เป็นผู้นำการสนทนาตังคำถามให้เด็กสำรวจตัวเอง ได้แก่
- ถามถึงสิ่งที่เด็กชอบ หนูชอบเรียนอะไร คนที่ชอบเป็นใคร ชอบทำอะไรและสิ่งที่ชอบอื่นๆ
- ถามถึงความในใจของเด็ก ถามสิ่งที่อยากเป็น อยากเห็น อยากได้ กลัว กังวล อายฯลฯ
- ถามเพื่อรู้บุคลิกภาพของตนเอง เก่งอะไร ทำอะไรได้ดี ความแตกต่างของตนเองกับผู้อื่น ความสุข ความสนุก และคำที่ต้องชม ความดี ความไม่ดี ฯลฯ
ฝึกให้เด็กรู้จักสังเกตและรับรู้อารมณ์ของตนเอง
สำหรับในเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จะประสบกับอารมณ์ที่หลากหลายลักษณะ ได้แก่
- อารมณ์ที่เกิดจากการถูกกลั่นแกล้ง รังแกให้เจ็บ การถูกเฆี่ยนตี การถูกข่มขู่ อารมณ์ที่เกิดจากคำพูด ตำหนิ ติเตียน ดุด่า ดูหมิ่น เหยียดหยาม การล้อเลียนให้ได้อายและอารมณ์ที่เกิดจากความกังวลและกลัว กลัวการไปอยู่สถานที่ใหม่ เพื่อนใหม่ กลัวการถูกทอดทิ้ง การทะเลาะเบาะแว้ง กลัวสียงดัง กลัวเพื่อนไม่ยอมรับให้เข้ากลุ่ม
- ความรู้สึกที่เกิดจากความคิดที่ไม่ถูกต้องของตนเอง เช่นความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ อยากทัดเทียม อยากได้อยากมีสิ่งของแบบเพื่อน การทำงานไม่สำเร็จ และการเปรียบเทียบการได้รับการปฏิบัติจากครู พ่อแม่ที่ไม่ทัดเทียมผู้อื่น เป็นต้น
อารมณ์และความรู้สึกเหล่านี้ก่อให้เกิดความทุกข์ เก็บกดในใจ ในความคิดคำนึงของเด็ก ถ้าเด็กไม่สามารถก้าวข้ามอารมณ์เหล่านั้นไปได้ จะเกิดผลสะท้อนกลับ คือไม่กล้าเผชิญอุปสรรคและความยากลำบาก แต่หากอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้น ถูกบ่มเพาะเป็นเวลายาวนานจนชินชา เด็กจะเห็นว่าอารมเหล่านั้นเป็นเรื่องปกติ ไม่รู้สึกว่าเป็นสิ่งผิด ก็จะไม่ยับยั้งชั่งใจ ไม่รู้จักควบคุมอารมณ์ จะใช้ความรู้สึกเหล่านั้นต่อผู้อื่น ทำงานร่วมกับผู้อื่น อยู่ร่วมกับผู้อื่นไม่ราบรื่น และอาจพัฒนาไปสู่ความรุนแรงในอนาคต
ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองและผู้ใกล้ชิดกับเด็กจะต้องฝึกฝนให้เด็กได้เข้าใจระดับอารมณ์ของตนเองว่ามีความแตกต่างจากคนอื่น สามารถรับรู้อารมทั้งทางบวกทางลบของตนเอง โดยการสร้างบรรยากาศที่อิสระไม่กดดัน พูดจาคุยสนทนากันกับเด็กเสียงเบา นุ่มนวล ไม่ใช้อารมณ์ สอบถามตั้งใจ ฟังการเล่าความรู้สึกของเขา และใช้ตัวช่วยคือนิทาน ละครสั้น ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้เด็กได้เรียนรูอารมณ์หลายๆประเภท ไปพร้อมๆกับการรู้จักคำศัพท์ ภาษาเกี่ยวกับอารมณ์ของตัวละครภาษาพูดและการสื่อสารที่เหมาะสมและไม่เหมาะสมของตัวละคร วิธีการเผชิญปัญหาและการแก้ไขปัญหา เรียนรู้ความผิดหวัง มิตรภาพและจริยธรรม ที่ล้วนเป็นประสบการณ์ที่ซึมซับเข้าไปในความรู้สึกในใจ โดยเด็กไม่รู้ และควรเปิดโอกาสให้เด็กช่วยกันอภิปรายถึงอารมณ์ของตัวละครจะทำให้เกิดความหลากหลาย ซับซ้อน ลุ่มลึกและไม่เป็นการจำกัดความคิดของเด็ก และเปรียบเทียบการเกิดอารมณ์ภายในใจตนเอง จำแนกและเรียกชื่ออารมที่เกิดขึ้นในตนเอง ฝึกบ่อยๆ สม่ำเสมอจนเกิดทักษะการรับรู้และจำแนกอารมณ์ตนเอง
- ฝึกให้เด็กคิดและมีมุมมองเชิงบวก
- ฝึกให้ผู้เรียนสังเกตรับรู้และจดจำความรู้สึกของตนเองที่เกิดขึ้นทุกสถานการณ์
- ฝึกให้เด็กนำประสบการณ์เกิดอารมณ์และความรู้สึกนั้นมาเล่าสู่กันฟัง สนทนาพูดคุยหาทางออก บอกวิธีทำให้อารมณ์ความรู้สึกนั้นหายไป
เอกสารอ้างอิง
สำนักวิชาการและมาตราฐานการศึกษา และ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ. (2561). เอกสารการเสริมสร้างทักษะชีวิตตามจุดเน้นการพัฒนาผู้เรียนโดยผู้ปกครอง"เอาถ่านทั้งบ้านเลย". สืบค้นจาก http://lifeskills.obec.go.th/old/pdf/e-Book_เอาถ่านทั้งบ้านเลย.pdf